กรมชลประทาน คุมเข้มแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่าจากการตรวจสอบล่าสุดพบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,757 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ 33,639 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 7,557 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,891 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 4,094 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,797 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้
สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 3.59 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.51 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา พิจารณาเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 65 ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
ด้านคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ได้เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์น้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ด้วย