“เกษตร”ขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน เตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยในยุคโควิด”
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมพร้อมขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน และเตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของภาคเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด”ภายหลัง เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส ประกาศเดินหน้าปฏิรูปสร้างระบบอาหารโลกที่มั่นคงและยั่งยืน เพราะระบบอาหารในระดับประเทศและระดับโลก มีจุดอ่อน มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน การผลิตอาหารและการเกษตรที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ประชากรโลกเพิ่มขึ้นและมีการขยายเขตเมือง มีการบุกรุกทำลายป่า การใช้สารเคมีในภาคเกษตรอย่างไม่เหมาะสม ระบบนิเวศเสียสมดุล ดินเสื่อมคุณภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย
ทั้งนี้ เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ประกาศเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit: UNFSS 2021) ระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจากทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2564 และการประชุมระดับผู้นำประเทศและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 นี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือและจัดทำนโยบายแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้มีการรวบรวมข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรของแต่ละประเทศเพื่อนำไปเสนอในเวทีสหประชาชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำเสนอผลงานและความสำเร็จ 1) การขับเคลื่อนนโยบาย “3S” คือ “Safety” ความปลอดภัยของอาหาร “Security” ความมั่นคง มั่งคั่ง ของภาคการเกษตรและอาหาร และ “Sustainability” ความยั่งยืนของภาคการเกษตร สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด” 2) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรระดับจังหวัด (Provincial crop calendar) เพื่อบริหารจัดการด้านความมั่นคงอาหารเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร (Agricultural Big Data) 3) ความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU เพื่อรักษาและสร้างสมดุลทรัพยากรทางทะเล 4) การนำเสนอโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ 10 ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการโคก หนอง นา โมเดล ให้โลกรับทราบถึงนโยบายการสร้างระบบอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย
สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการ ดังนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประชุมหารือกับ นาย Jongjin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายด้านการเกษตรและระบบอาหารของประเทศไทยกับ FAO
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาแผนงานในปี พ.ศ. 2564 ที่สำคัญ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นความสำคัญของการประชุมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกให้มีความยั่งยืน และเข้าร่วมกิจกรรมประชุมหารือระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน (National Dialogues) เพื่อขับเคลื่อนแผนงานของไทยให้สอดคล้องกับสหประชาชาติ
นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogues Convenor) สำหรับการประชุม UNFSS1. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมร่วมกับ Mr. David Narbaro เลขานุการของเลขาธิการ UN ผู้รับผิดชอบการประชุม UNFSS และ Ms. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator ประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมข้อมูลในการประชุม UNFSS
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนจะดำเนินการจัดเวทีพูดคุยสาธารณะ (National Dialogues) เกี่ยวกับแผนงานและแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2564 โดยหารือและรวบรวมข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในระบบอาหารและการเกษตร ทั้ง 4 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) มุ่งเน้นการผนึกกำลังทุกภาคส่วนให้ร่วมคิด ร่วมวางแผนพัฒนาอนาคตของภาคเกษตรไทย เพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG ที่ประกอบไปด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และร่วมสร้างสมดุลใหม่ให้กับภาคเกษตรและระบบอาหารของไทยให้เข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข็งขันอย่างยั่งยืน และในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในเวทีสหประชาชาติต่อไป