นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับเหล่าทัพ เร่งปฏิบัติการช่วยบรรเทาปัญหาไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ปัญหาภัยแล้งพื้นที่การเกษตร และปฏิบัติภารกิจเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการรับมือกับพายุลูกเห็บที่กำลังเกิดขึ้นเตื่องจากเริ่มเข้าสู่พายุฤดูร้อนแล้วในขณะนี้ โดยจากการลงมายังพื้นที่การเกษตรของอาสาสมัครฝนหลวงที่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี มารับฟังปัญหาและสำรวจพื้นที่การเกษตรที่มีความต้องการน้ำ จากการประสานของอาสาสมัครฝนหลวงมายังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี พบว่าพื้นที่การเกษตรแห่งนี้มีการปลูกผลไม้หลักอย่างส้มโอ มังคุด ทุเรียน ลางสาด และลองกอง โดยเกษตรกรได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำแควน้อย น้ำผุดธรรมชาติ และน้ำฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก จึงได้มีการประสานงานเพื่อวางแผนปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่องจำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พิษณุโลก บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครราชสีมา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนสิรินธร บรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ จ.สกลนคร นครพนม และใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 3 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาจากการตรวจวัดสภาพอากาศทั่วทุกภูมิภาค พบว่า สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้าจึงมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ลุ่มรับน้ำ และปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ จำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุดรธานี พื้นที่เป้าหมายบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เป้าหมายบริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคจ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่การเกษตร จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่
ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯ อีก 11 หน่วยฯ ยังคงติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำต่อไป